อย่าเก็บไว้เพียงคนเดียวรู้แล้วแชร์เป็นสาธารณะประโยชน์!!! เชื่อว่าทุกคนเคยเจอมาแล้ว! อ้างพิรุธ ขอค้นตัว! 6 ข้อควรรู้ สุจริตชนควรทำอย่างไร? (มีภาพ)


loading...


   เรื่องใกล้ตัวที่พร้อมจะเกิดได้ทุกเมื่อเสียเหลือเกินในไทยแลนด์แดนสยามของเรา ที่จู่ๆ จะมีใครสักคนอ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ มาขอตรวจค้นประชาชนตาดำๆ อย่างเราๆ ท่านๆ ในที่ลับตาคน จนให้อดเกิดความอกสั่นขวัญผวาไม่ได้ว่า บุคคลท่านนี้ ตกลงเป็นเจ้าหน้าที่จริง หรือเป็นมิจฉาชีพที่แฝงตัวมาเพื่อก่ออาชญากรรมกันแน่?...

ด้วยเหตุนี้  ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จึงขอนำเสนอสกู๊ปชิ้นนี้ เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไปว่า เมื่อต้องไปตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ ควรจะให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ รวมทั้งมีวิธีป้องกันตัวเองอย่างไร เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของบุคคลที่แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐแต่แฝงตัวมาเพื่อก่ออาชญากรรม โปรดติดตามนับจากบรรทัดนี้เป็นต้นไป...

พลเมืองดี โดนชายอ้างเป็นตำรวจ ตามขึ้นอพาร์ตเมนต์ ขอเรียกคุย

เหตุการณ์ระทึกขวัญในครั้งนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 ก.ค. 59 เวลาประมาณ 09.30 น. ช่างภาพของไทยรัฐออนไลน์ ได้ลืมของไว้ในอพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่ง ย่านประดิพัทธ์ ด้วยความรีบร้อน หลังจอดรถจักรยานยนต์ จึงกึ่งวิ่งกึ่งเดิน ก่อนจะสแกนคีย์การ์ด เข้าไปภายใน

ช่างภาพคนดังกล่าว เล่าเหตุการณ์ให้ฟังว่า “ช่วงที่กำลังเดินขึ้นบันไดไปชั้น 2 ผมได้ยินเสียงเรียกจากผู้ชายคนหนึ่งที่วิ่งตามเข้ามาในอพาร์ตเมนต์ คาดว่าตอนที่สแกนคีย์การ์ดระหว่างประตูกำลังปิดชายคนนั้นก็รีบแทรกตัวเข้ามาข้างในทันที เขาก็เรียกผมว่า เอ้ย! วิทย์! ผมก็หันไปตามเสียงเรียกด้วยความงงๆ และบอกเขาว่า อะไรพี่ ผิดคนแล้ว ผู้ชายคนนั้นเขาก็บอกว่า เออ เอ็งนั่นแหละ หยุดก่อน สารวัตรจะคุยด้วย ผมก็ถามว่า มีอะไรครับพี่ สารวัตรบอกผมว่า ท่าทางมีพิรุธนะเรา สายส่งซิกมา ผมก็ถามกลับไปว่า อ้าวว่าไงพี่ มีอะไรครับ ทำไมพูดแบบนี้

จากนั้น ชายคนที่เรียกคนแรก ก็ทำท่าทางล้วงเข้าไปที่กระเป๋ากางเกง แต่ผมไม่รู้ว่าเขาจะล้วงเอาอะไรออกมา ด้วยความที่กลัวว่า เขาอาจจะเป็นแก๊งมิจฉาชีพที่ปลอมตัวมาเป็นตำรวจเพื่อหวังก่ออาชญากรรม ผมเลยแสดงบัตรว่า ทำงานอยู่ที่ไทยรัฐออนไลน์ เห็นดังนั้น เขาก็เลยบอกว่า อ๋อ เป็นช่างภาพหรอ โอเคๆ แล้วก็เดินออกไปจากอพาร์ตเมนต์ พร้อมกับขึ้นรถจักรยานยนต์ออกไปทันที”

    บริเวณหน้าอพาร์ตเมนต์ที่ผู้เสียหายต้องใช้คีย์การ์ดเพื่อเข้าไปข้างใน

                            ชายสองคนได้เดินตามช่างภาพขึ้นมาบริเวณนี้ เพื่อพูดคุย

  หลังผ่านเหตุการณ์ระทึกขวัญดังกล่าว ช่างภาพรายนี้ จึงมาบอกเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ซึ่งไม่รอช้า ทีมข่าวฯ ได้รีบติดต่อกับเจ้าของอพาร์ตเมนต์แห่งนั้น เพื่อขอดูกล้องวงจรปิดทันที


loading...

หลังจากนั้น เมื่อได้ภาพจากกล้องวงจรปิด ทั้งผู้สื่อข่าวและช่างภาพได้เดินทางไปที่ สน.บางซื่อ ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ทันที เนื่องจากเกรงว่า บุคคลทั้งสองคนอาจจะไม่ใช่เจ้าหน้าที่ตำรวจ และอาจเป็นมิจฉาชีพแฝงตัวเข้ามาเพื่อหวังก่ออาชญากรรม

จนที่สุด ได้ทราบข้อเท็จจริงว่า บุคคลทั้งสองคน เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจริง ทราบชื่อต่อมาคือ ร.ต.อ.สามารถ เปาจีน รอง สว.สส. สน.บางซื่อ และ ร.ต.ต.ฉลอง เดชบำรุง รอง สว.สส. สน.บางซื่อ

โดย ร.ต.อ.สามารถ ได้ชี้แจงกับทีมข่าวฯ ว่า เหตุการณ์ดังกล่าว เป็นการเข้าไปตรวจยาเสพติดตามหน้าที่ปกติ เมื่อเห็นช่างภาพมีท่าทางพิรุธ กึ่งวิ่งขึ้นเข้าไปในอพาร์ตเมนต์ในระหว่างที่มีการตรวจค้นยาเสพติด ทำให้เกิดความสงสัยขึ้นมา จึงได้เดินตามเข้าไปในอพาร์ตเมนต์เพื่อขอตรวจค้น แต่ยังไม่ทันได้โชว์บัตรว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ช่างภาพก็แสดงตัวให้เห็นก่อนแล้ว จึงคิดว่าไม่น่าใช่กลุ่มค้ายาเสพติดแน่นอน จึงได้ปล่อยตัวไป

ทั้งนี้ ร.ต.อ.สามารถ ได้กล่าวขอโทษกับช่างภาพไทยรัฐออนไลน์ด้วย ที่ทำให้เกิดตกใจและหวาดกลัวในสิ่งที่ได้กระทำลงไป และขอโทษในความเข้าใจผิดที่เกิดขึ้น อีกทั้งยืนยันว่า ทำไปตามหน้าที่ของตัวเองที่ต้องตรวจค้นยาเสพติด หากไม่ทำก็จะโดนโทษฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ได้

ซึ่งเมื่อทางผู้เสียหาย ได้รับคำอธิบายและคำขอโทษจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงไม่ติดใจเอาความ และอยากขอให้เป็นอุทาหรณ์แก่คนอื่นด้วย เพราะการตรวจค้นควรจะมีความชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดเช่นนี้อีก

    มีชายสองคนกำลังขี่รถเข้ามาที่อพาร์ตเมนต์

    กล้องวงจรปิด จับภาพชายที่อ้างตัวเป็นตร.ขี่รถจักรยานยนต์เข้ามาที่อพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่ง
ซึ่งจากกรณีที่เกิดขึ้น ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จึงได้สอบถามไปยังผู้เชี่ยวชาญด้านข้อกฎหมาย และฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ ว่า การขอตรวจค้นแบบใดจึงจะถูกต้องและทำให้ประชาชนเกิดความสบายใจ ในการทำหน้าที่ของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ รวมถึงแนวทางปฏิบัติของประชาชน เพื่อปกป้องสิทธิของตัวเอง

โฆษก ตร. เผย ก่อนค้นต้องแสดงตัวเป็นเจ้าหน้าที่ พร้อมชี้แจงข้อสงสัย

loading...

ผู้สื่อข่าวได้ติดต่อไปยัง พล.ต.อ.เดชณรงค์ สุทธิชาญบัญชา โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ความรู้ถึงการขอเข้าค้นตัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างถูกต้องตามกฎหมายว่า การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจจะมีอยู่สองส่วนด้วยกัน คือ 1. การแต่งกายในเครื่องแบบที่เรียกว่า สายตรวจ และ 2. การแต่งกายนอกเครื่องแบบ จะเรียกว่า สายลับ หรือสายสืบ ที่มีหน้าที่ตามกฎหมาย

โดย การจะขอเข้าตรวจค้นบุคคลในที่สาธารณะตามกฎหมายนั้น จะต้องมีการแสดงตนว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ และหยุดเพื่อตรวจ เนื่องจากคุณคือผู้ต้องสงสัยเรื่องอะไร ประการใด ซึ่งลักษณะต้องสงสัยตามกฎหมาย เช่น มีข้อมูลว่าคุณเป็นคนร้ายคดีอะไร หรือต้องกล่าวแสดงตนว่า ผมกำลังมาตามจับคดีอะไร เป็นต้น

ฉะนั้น กรณีที่ประชาชนสามารถปกป้องสิทธิของตนเองได้ ในกรณีที่สงสัยว่าโดนขอตรวจค้นโดยมิชอบนั้น

1. เราต้องขอดูบัตรแสดงตนว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจริงหรือไม่ ซึ่งเป็นสิทธิที่ประชาชนสามารถเรียกดูได้

2. หากคนที่อ้างว่าจะมาตรวจค้น ไม่มีการแสดงตัว เราต้องถามต่อไปว่า คุณมาค้นอะไร และเหตุที่ต้องสงสัยเรื่องอะไร ถ้าเขาอ้างว่ามีความผิดข้อหายาเสพติด เราจะต้องขอดูหมายจับ แต่ถ้าไม่มีหมายจับ จะต้องเป็นความผิดซึ่งหน้า และถามว่าความผิดอะไร กรณีนี้เรามีสิทธิไม่ให้ตรวจค้นได้

3. เราสามารถหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาบันทึกภาพหรือวิดีโอ การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานได้

4. ถ้าเรารู้สึกว่าเราไม่ได้รับความเป็นธรรมในส่วนนี้ เราก็ต้องไปแจ้งความร้องทุกข์ตามกฎหมายว่าเราโดนละเมิดสิทธิ หรือบอกเขาว่าไปพบพนักงานสอบสวนพร้อมกันว่านายคนนี้เข้ามาปฏิบัติงานโดยมิชอบ

อย่างไรก็ดี เมื่อผู้สื่อข่าวถามต่อไปว่า กรณีลักษณะนี้ เกิดขึ้นบ่อยครั้งหรือไม่ ซึ่งก็ได้รับคำตอบจากโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า จากสถิติเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก เนื่องจากปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่มีความรู้และค่อนข้างระมัดระวังตัว และไม่หลงกลกับพวกมิจฉาชีพ

    จุดเกิดเหตุที่ผู้เสียหายโดนเรียกให้หยุด เพราะมีท่าทางน่าสงสัย

    ประตูอพาร์ตเมนต์ที่มีระบบคีย์การ์ดล็อกอยู่ ประชาชนควรรู้! 6 ข้อป้องกัน มิจฉาชีพแฝงตัวเป็นตำรวจ

ด้าน ทนายสงกานต์ อัจฉริยะทรัพย์ ประธานเครือข่ายต่อต้าน การบ่อนทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ให้ความเห็นในข้อกฎหมาย ว่า กรณีการขอเข้าตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้น สิ่งที่ประชาชนพึงระวัง และควรปฏิบัติ เพื่อเป็นการให้ความร่วมมือแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงเป็นการป้องกันกลุ่มมิจฉาชีพที่อาจแฝงตัวเข้ามาเพื่อก่ออาชญากรรม ก็คือ...

1. ขอดูบัตรประจำตัวของผู้ที่จะเข้าตรวจค้น ว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจริงหรือไม่ ในกรณีที่มีการอ้างว่า เป็นตำรวจนอกเครื่องแบบ

2. หากผู้ขอค้นแต่งกายมิดชิด เช่น สวมเสื้อแขนยาว หรือกางเกงขายาว ก็ขอให้ผู้นั้นแสดงให้เห็นว่าในเครื่องแต่งกายไม่ได้มีอะไรซุกซ่อนไว้ เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ

3. ผู้ถูกค้น ควรจะร้องเรียกคนข้างเคียง มาร่วมเป็นสักขีพยาน

4. หากมีโทรศัพท์มือถือ ก็ควรหยิบขึ้นมาบันทึกการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งแต่เริ่มขอเข้าตรวจค้น เพื่อใช้เป็นพยานหลักฐาน

5. ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ อ้างว่าเป็นเหตุซึ่งหน้า จะขอเข้าตรวจค้น เราก็ควรชิงเป็นฝ่ายแสดงความบริสุทธิ์ใจ โดยการถอดเสื้อ หรือควักกระเป๋ากางเกงออกมาให้เจ้าหน้าที่ดูเลยก็ได้

6. ในกรณีที่เห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถใช้สิทธิตามกฎหมาย ไปร้องทุกข์ขอความเป็นธรรม จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงได้อีกเช่นกัน

อย่างไรก็ดี ประชาชนพึงรู้สิทธิและวิธีป้องกัน เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพที่อาจเข้ามาหาผลประโยชน์ในคราบของเจ้าหน้าที่รัฐ.

loading...

ที่มา:http://www.thairath.co.th/content/661229


EmoticonEmoticon