loading...
โรคเริม
เริม (Herpes simplex) เป็นโรคติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งของผิวหนังและเยื่อเมือกต่าง ๆ ทำให้มีลักษณะพุขึ้นเป็นตุ่มใสเล็ก ๆ แล้วแตกเป็นแผล ตกสะเก็ด ซึ่งหายได้เอง แต่มักกำเริบซ้ำและเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำมักมีอาการกำเริบได้บ่อยและรุนแรงกว่าปกติ ส่วนในเด็กทารกและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ที่ปลูกถ่ายอวัยวะ อาจมีอาการรุนแรง โดยเชื้อสามารถแพร่เข้าสู่กระแสเลือดกระจายไปยังอวัยวะต่าง ๆ อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
ส่วนใหญ่การติดเชื้อเริมมักไม่แสดงอาการ แต่ยังสามารถแพร่เชื้อไปให้ผู้อื่นได้
โรคเริมจัดเป็นโรคติดต่อที่พบได้บ่อยในคนทุกวัย โดยเฉพาะในคนวัยหนุ่มสาวและวัยผู้ใหญ่ ผู้หญิงและผู้ชายมีโอกาสเกิดโรคนี้ได้ใกล้เคียงกัน การติดเชื้อครั้งแรกมักเกิดขึ้นในวัยเด็กเป็นส่วนใหญ่ อุบัติการณ์สูงสุดเกิดในเด็กระหว่างอายุ 6 เดือน ถึง 3 ขวบ ซึ่งเด็กในชุมชนแออัดและมีสุขอนามัยไม่ดีจะมีโอกาสติดเชื้อได้มากกว่า
สาเหตุของโรคเริม
สาเหตุ : เกิดจากการติด เชื้อไวรัสเริม หรือ เฮอร์ปีส์ซิมเพล็กซ์ (Herpes simplex virus – HSV) ซึ่งเป็นไวรัสต่างชนิดกับโรคงูสวัดและโรคอีสุกอีใส ถึงแม้จะก่อให้เกิดตุ่มน้ำกับผิวหนังได้คล้าย ๆ กันก็ตาม โดยเชื้อไวรัสเริมจะมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ ไวรัสเริมชนิดที่ 1 หรือ เอชเอสวี-1 (Herpes simplex virus 1 หรือ HSV-1) กับไวรัสเริมชนิดที่ 2 หรือ เอชเอสวี-2 (Herpes simplex virus 1 หรือ HSV-2) เชื้อเริมทั้ง 2 ชนิดนี้สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อได้ทั้งบริเวณผิวหนังทั่วไป ช่องปาก อวัยวะเพศ และเยื่อเมือกต่าง ๆ โดยเชื้อไวรัสเริมชนิดที่ 1 มักจะทำให้เกิดอาการกำเริบที่ปากมากกว่าที่อวัยวะเพศ ส่วนเชื้อไวรัสเริมชนิดที่ 2 มักจะทำให้เกิดอาการกำเริบที่อวัยวะเพศมากกว่าที่ปาก
การติดต่อ : ติดต่อโดยการสัมผัสโดยตรงกับผู้ที่เป็นโรค ซึ่งอาจแสดงอาการหรือไม่แสดงอาการก็ได้ ผ่านทางรอยถลอกของผิวหนังหรือทางเยื่อเมือก (เช่น เยื่อบุตา ช่องปาก องคชาต ช่องคลอด ปากมดลูก ทวารหนัก) จากน้ำลายหรือสิ่งคัดหลั่ง รวมไปถึงจากการใช้ของใช้ร่วมกัน การกิน การจูบ หรือจากมือติดโรคแล้วป้ายเข้าตา ดังนั้น ผู้ที่คลุกคลีอยู่ใกล้ชิดกัน เช่น สามีภรรยา สมาชิกในครอบครัว เด็กในโรงเรียนหรือในสถานรับเลี้ยงเด็ก จะมีโอกาสติดเชื้อเริมได้ง่าย
ระยะฟักตัว : สำหรับการติดเชื้อครั้งแรกจนกระทั่งแสดงอาการจะใช้เวลาประมาณ 2-20 วัน เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายและอยู่ในชั้นของผิวหนัง เชื้อเริมจะแบ่งตัวทำให้ผิวหนังเกิดอาการบวมเป็นตุ่มน้ำและเกิดการอักเสบ แต่หลังจากนั้นเมื่อหายจากโรคแล้ว เชื้อเริมจะเข้าไปหลบซ่อนที่ปมประสาทในบริเวณใต้ผิวหนังหรือเยื่อบุและแฝงตัวอยู่อย่างสงบ โดยไม่มีการแบ่งตัว (เชื้อจะอยู่ในตัวตลอดชีวิตในปมประสาท เพื่อรอให้มีปัจจัยต่าง ๆ มากระตุ้นแล้วจึงแสดงอาการ) แต่เมื่อมีปัจจัยมากระตุ้น เช่น เป็นไข้ ถูกแดดจัด ร่างกายอิดโรย เกิดความวิตกกังวล มีอารมณ์เครียด มีประจำเดือน มีการตั้งครรภ์ ได้รับบาดเจ็บหรือผ่าตัดบริเวณใบหน้า การทำฟัน ภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำ เป็นต้น เชื้อเริมที่แฝงอยู่ตัวอยู่ขณะนั้นจะเกิดการแบ่งตัวเจริญเติบโตเกิดการปลุกฤทธิ์คืน (Reactivation) ทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำ
การเกิดเป็นซ้ำ : โรคนี้สามารถเป็นซ้ำได้บ่อย ๆ บางครั้งอาจเป็นซ้ำได้ถึงปีละ 3 ครั้ง แต่จะค่อย ๆ ลดไปเมื่ออายุสูงขึ้น โดยเริมที่ริมฝีปากจะมีอัตราการเกิดเป็นซ้ำประมาณ 20-40% ส่วนเริมที่อวัยวะเพศจะมีอัตราการเกิดเป็นซ้ำประมาณ 80% ซึ่งการเกิดเป็นซ้ำนี้จะมีอาการน้อยกว่า หายเร็วกว่าการเกิดเป็นครั้งแรก และมักไม่มีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย
อาการของโรคเริม
อาการของโรคจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ติดเชื้อ อายุ ภูมิคุ้มกันของผู้ป่วย และชนิดของเชื้อไวรัสเริม ถ้าเป็นการติดเชื้อครั้งแรก (ในผู้ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อนี้มาก่อน) ผู้ป่วยมักจะมีอาการทั่วไปร่วมด้วย (เช่น เป็นไข้ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อย) มีรอยโรค ระยะเวลาของอาการแสดง และมีภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อซ้ำ ซึ่งในที่นี้จะขอกล่าวถึงอาการของโรคเริมที่พบได้บ่อย ๆ ดังนี้
เริมที่ผิวหนัง ส่วนใหญ่จะพบการติดเชื้อซ้ำ (Reactivation) บริเวณรอยโรคมักมีอาการปวดแสบปวดร้อนหรือปวดเสียวนำมาก่อนประมาณ 30 นาที ถึง 48 ชั่วโมง (ถ้าเป็นที่บริเวณขา สะโพก หรือก้น อาจมีอาการปวดแปลบนำมาก่อนประมาณ 1-5 วัน) แล้วมีตุ่มน้ำใสขนาดประมาณ 2-3 มิลลิเมตรขึ้นอยู่กันเป็นกลุ่ม ๆ โดยรอบจะมีผื่นแดง ต่อมาตุ่มน้ำใสนี้จะกลายเป็นสีเหลืองขุ่นแล้วแตกกลายเป็นสะเก็ด ซึ่งมักจะหายไปได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ (เร็วสุด คือ 3 วัน) ด้วยลักษณะของตุ่มน้ำใสที่อยู่กันเป็นกลุ่มแบบนี้ ชาวบ้านจึงเรียกโรคนี้ว่า “ขยุ้มตีนหมา” ตำแหน่งที่พบบ่อย ได้แก่ ริมฝีปาก แก้ม จมูก ตา หู ก้น อวัยวะเพศ ซึ่งผื่นมักจะขึ้นที่ตำแหน่งที่เคยขึ้นอยู่เดิมหรือในบริเวณใกล้เคียง
ในกรณีที่เป็นการติดเชื้อครั้งแรก ผู้ป่วยมักจะมีอาการอักเสบที่รุนแรงกว่า บริเวณรอยโรคจะมีลักษณะบวมและเจ็บ ระยะแรกจะขึ้นเป็นตุ่มน้ำใส ต่อมาจะดูคล้ายตุ่มหนองหรือฝี (ภายในเป็นน้ำและเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว) เรียกว่า “ตะมอยเริม” (Herpetic whitlow) ซึ่งจะเป็นอยู่นานประมาณ 7-10 วัน ผู้ป่วยส่วนน้อยอาจมีอาการไข้และต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงอักเสบร่วมด้วย พบได้บ่อยที่นิ้วชี้ รองลงมาคือนิ้วหัวแม่มือ แต่บางรายอาจพบได้ที่บริเวณฝ่ามือ ในทารกและเด็กเล็กมักเกิดจากการดูดนิ้วในขณะที่มีการติดเชื้อเริมในปากหรือเกิดจากการจูบมือของผู้ใหญ่ที่เป็นเริมในปาก ส่วนในผู้ใหญ่อาจเกิดจากการสัมผัสระหว่างการมีเพศสัมพันธ์หรือการต่อสู้ เช่น นักมวยปล้ำ ซึ่งอาจมีรอยโรคที่หน้า คอ ลำตัว หรือแขนขา และสำหรับบุคลากรทางการแพทย์อาจติดมาจากการสัมผัสสิ่งคัดหลั่งจากผู้ป่วยเริม
เริมในช่องปาก (Herpetic gingivostomatitis) เป็นอาการที่พบได้บ่อยที่สุดของการติดเชื้อไวรัสเริมชนิดที่ 1 เป็นครั้งแรก พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ มีระยะฟักตัวของโรคประมาณ 2-3 วัน หรืออาจนานถึง 20 วัน
ในกรณีที่ติดเชื้อครั้งแรก ผู้ป่วยจะเป็นเริมในช่องปากชนิดเฉียบพลัน โดยในเด็กเล็กจะมีไข้ ร้องกวน ไม่ยอมดูดนม ไม่กินอาหาร มีตุ่มน้ำพุขึ้นที่เยื่อบุของริมฝีปาก เหงือก ลิ้น และเพดานปาก แล้วแตกเป็นแผลตื้นสีเทาบนพื้นสีแดงขนาด 1-3 มิลลิเมตร มักมีอาการเหงือกบวมแดง ซึ่งในบางครั้งอาจมีเลือดซึมและมีกลิ่นปาก เด็กอาจมีภาวะขาดน้ำเนื่องจากดื่มนมและน้ำได้น้อย มักตรวจพบต่อมน้ำเหลืองใต้คางโตและเจ็บ โดยอาการต่าง ๆ จะเป็นมากในช่วงประมาณ 4-5 วันแรก และแผลมักจะหายไปได้เองภายใน 10-14 วัน ส่วนในเด็กโตและผู้ใหญ่ ในระยะแรกผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บคอ ซึ่งตรวจพบหนองที่ผนังคอหอยหรือแผลบนทอนซิล ต่อมาจะพบแผลที่ลิ้น กระพุ้งแก้มและเหงือก ผู้ป่วยอาจมีอาการไข้ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัวร่วมด้วย ซึ่งอาการต่าง ๆ มักจะหายไปได้เองภายใน 7-10 วัน
loading...
ผู้ป่วยที่เป็นเริมในช่องปาก เมื่อหายแล้วเชื้อมักจะหลบซ่อนตัวอยู่ที่ปมประสาทของสมองคู่ที่ 5 (Trigeminal ganglion) ต่อมาเชื้ออาจจะแบ่งตัวเจริญเติบโตทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำได้ ส่วนใหญ่จะเกิดเป็นแผลเริมที่ริมฝีปากเรียกว่า “เริมที่ริมฝีปาก” (Herpes labialis บางครั้งเรียกว่า Fever blisters หรือ Cold sores) ซึ่งที่บริเวณริมฝีปากของผู้ป่วยมักจะมีตุ่มน้ำเล็ก ๆ พุขึ้นกลุ่ม แล้วแตกลายเป็นแผลตกสะเก็ดอยู่ประมาณ 2-3 วัน โดยก่อนที่จะมีตุ่มขึ้นเพียงไม่กี่ชั่วโมงถึงหลายวัน ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดแสบหรือคันบริเวณรอยโรคได้
ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดแผลเปื่อยในช่องปาก เรียกว่า “เริมในช่องปากชนิดเป็นซ้ำ” (Recurrent intraoral herpes simplex) ซึ่งมักจะมีแผลเดียวเกิดขึ้นที่เหงือกหรือที่เพดานแข็ง โดยแรกเริ่มจะขึ้นเป็นตุ่มน้ำเล็ก ๆ แล้วแตกเป็นแผลลักษณะเป็นสะเก็ดสีเหลืองปกคลุมอยู่บนพื้นสีแดง เมื่อลอกออกจะกลายเป็นแผลตื้นสีแดง
ผู้ป่วยบางรายอาจมีแผลเริมขึ้นที่ใบหน้าหรือจมูกได้
แผลเริมเหล่านี้มักจะหายไปได้เองภายใน 5-10 วัน แต่ต่อมาอาจกำเริบซ้ำได้อีก ซึ่งอาการมักจะกำเริบขึ้นเมื่อมีความเครียด, พักผ่อนน้อย, อ่อนเพลีย, ถูกแดดจัด, มีประจำเดือน, เป็นไข้หวัดหรือเป็นไข้ (เช่น มาลาเรีย ไข้กาฬหลังแอ่น สครับไทฟัส ทอนซิลอักเสบ ปอดอักเสบ), ได้รับการกระทบกระเทือนเฉพาะที่ (เช่น ถอนฟัน ผ่าตัดที่บริเวณใบหน้า) เป็นต้น
เริมที่อวัยวะเพศ (Herpes genitalis) เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของอาการเป็นแผลที่อวัยวะเพศ จัดเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเริมชนิดที่ 2 ส่วนน้อยเกิดจากเชื้อไวรัสเริมชนิดที่ 1
ถ้าเป็นการติดเชื้อครั้งแรก จะมีระยะฟักตัวของโรคคือตั้งแต่ได้เชื้อจนกระทั่งแสดงอาการประมาณ 2-10 วัน ผู้ป่วยมักมีไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย และเกิดผื่นตุ่มขึ้นที่บริเวณอวัยวะเพศ โดยจะมีอาการแสบ ๆ คัน ๆ นำมาก่อน ในผู้ชายอาจขึ้นที่หนังหุ้มปลายองคชาต ที่ตัว หรือที่ปลายองคชาต ถุงอัณฑะ ต้นขา ก้น รอบทวารหนัก หรือในท่อปัสสาวะ ส่วนผู้หญิงอาจขึ้นที่ปากช่องคลอด ก้น รอบทวารหนัก ในช่องคลอด หรือที่ปากมดลูก โดยผื่นตุ่มจะมีลักษณะเป็นตุ่มนูน ตุ่มน้ำ หรือแผลแดง ๆ คล้ายรอยถลอก อาจมีอาการเจ็บหรือคัน ต่อมาจะแห้ง อาจมีสะเก็ดหรือไม่มีก็ได้ แล้วหายไปได้เอง โดยอาจจะเป็นอยู่นานประมาณ 2-3 สัปดาห์ ผู้ป่วยอาจมีอาการปัสสาวะแสบขัด มีหนองไหลจากช่องคลอดและท่อปัสสาวะ ต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโตและเจ็บร่วมด้วย นอกจากนี้ยังอาจพบรอยโรคได้ที่ก้น หน้าขา ขาหนีบ นิ้วมือ หรือตา ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในสัปดาห์ที่ 2
หลังจากอาการหายแล้ว เชื้ออาจหลบซ่อนอยู่ที่ปมประสาท แล้วต่อมาผู้ป่วยจะมีการติดเชื้อซ้ำ ๆ เป็น ๆ หาย ๆ อยู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 6 เดือนแรกหลังการติดเชื้อครั้งแรก อาจเกิดขึ้นบ่อยและค่อย ๆ ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป (อาจกลับมาเป็นซ้ำ 4-5 ครั้งต่อปี หลังจากนั้นความถี่ของการเกิดซ้ำจะลดลง) โดยอาการมักจะกำเริบขึ้นเวลาที่ร่างกายทรุดโทรม เครียด มีประจำเดือน หรือมีการเสียดสี เช่น การมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งในการติดเชื้อซ้ำ ผู้ป่วยจะมีอาการแสบ ๆ คัน ๆ บริเวณที่เป็นรอยโรครวมทั้งต้นขาด้านในหรือก้นนำมาก่อน ต่อมาจะพุขึ้นเป็นตุ่มน้ำใสเล็ก ๆ หลายตุ่ม อยู่กันเป็นกลุ่ม ๆ ที่อวัยวะเพศ โดยมักจะขึ้นตรงตำแหน่งเดิมที่เคยเป็นมาก่อน ผู้ป่วยอาจมีอาการปัสสาวะแสบขัด ต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโตและเจ็บ ตุ่มมักจะตกสะเก็ดภายใน 4-5 วัน แล้วหายไปได้เองภายใน 10 วัน และบางรายอาจมีไข้และอ่อนเพลียร่วมด้วย
ผู้ป่วยบางรายอาจมีการติดเชื้อซ้ำโดยไม่มีอาการแสดงออกมาก็ได้ แต่ยังคงสามารถปล่อยเชื้อออกมาแพร่ให้ผู้อื่นได้อยู่ ดังนั้นจึงไม่มีหลักประกันว่าการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ไม่แสดงอาการจะปลอดภัยจากโรคเริม
ส่วนใหญ่โรคเริมมักหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ แล้วอาการอาจกำเริบขึ้นเป็นครั้งคราว มีเพียงส่วนน้อยที่อาจมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น เช่น
ตุ่มหรือแผลกลายเป็นหนองพุพองจากการอักเสบซ้ำของเชื้อแบคทีเรีย
ถ้าเริมขึ้นที่ตาอาจทำให้กระจกตาอักเสบ (Keratitis) ถึงกับทำให้สายตาพิการได้
ในเด็กที่เป็นเริมในช่องปากอาจมีภาวะขาดน้ำ เนื่องจากดื่มนมและน้ำไม่ได้
ผู้หญิงที่เป็นเริมที่อวัยวะเพศ อาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูกเพิ่มขึ้น
เชื้อไวรัสเริมชนิดที่ 1 อาจเข้าไปที่ประสาทใบหน้า (Facial nerve) ทำให้เส้นประสาทอักเสบ กลายเป็นอัมพาตใบหน้าครึ่งซีกหรืออัมพาตเบลล์ได้
อย่างไรก็ตามหลังหายแล้วมักไม่ทำให้เกิดเป็นแผลเป็น
นอกจากนี้ ยังอาจพบภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ซึ่งมักพบได้ในทารกแรกเกิด เด็กที่เป็นโรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ (เช่น ผู้ป่วยเอดส์ ผู้ที่กินยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน ๆ ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะหรือทำเคมีบำบัด ขาดอาหาร มีบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก) เป็นต้น โดยภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่อาจพบได้ คือ
ในเด็กที่เป็นโรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ เมื่อติดเชื้อเริม อาจทำให้มีผื่นตุ่มขึ้นแบบกระจายทั่วไป ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ เรียกว่า “Eczema herpeticum”
การติดเชื้อเริมชนิดแพร่กระจาย (Disseminated infection) ซึ่งพบในทารกแรกเกิด ผู้ที่มีบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ผู้ที่ใช้ยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน หรือผู้มีภูมิคุ้มกันต่ำ จะทำให้ผื่นตุ่มกระจายทั่วไป ตุ่มพองใหญ่และมีเลือดออกอยู่ภายในตุ่ม และเชื้อแพร่กระจายไปสู่อวัยวะต่าง ๆ เช่น สมอง ปอด ระบบทางเดินอาหาร ตับ ม้าม ไต ต่อมหมวกไต ไขกระดูก เป็นต้น เกิดอาการรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีเนื้อเยื่อคอรอยด์และจอตาอักเสบ (Chorioretinitis) ทำให้ตาบอดได้
การติดเชื้อเริมในผู้หญิงตั้งครรภ์ อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ทารกเป็นโรคเริมแต่กำเนิด ซึ่งเกิดจากเชื้อเริมได้ 2 ชนิด ส่งผลให้ทารกมีน้ำหนักตัวน้อย ศีรษะเล็ก ตาเล็ก ต้อกระจก เนื้อเยื่อคอรอยด์และจอตาอักเสบ ชัก ปอดอักเสบ ตับโต มีผื่นตุ่มขึ้นตามผิวหนังหรือนิ้วมือ ถ้ามารดาติดเชื้อเริมในช่วงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ อาจทำให้ทารกในครรภ์เจริญเติบโตได้ช้าหรือคลอดก่อนกำหนดได้ หรือถ้ามารดาเป็นโรคเริมที่ช่องคลอดหรือปากมดลูกในระยะใกล้คลอด ก็อาจทำให้ทารกติดเชื้อในขณะคลอดกลายเป็นโรคเริมชนิดรุนแรงได้ เช่น โรคเริมชนิดแพร่กระจาย สมองอักเสบ กระจกตาอักเสบ จอตาอักเสบ เป็นต้น
สมองอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเริมชนิดที่ 1 พบได้มากในทารกแรกเกิด ผู้ป่วยอายุ 5-30 ปี และอายุเกิน 50 ปี
เยื่อหุ้มสมองอักเสบชนิดอะเซปติก (Aseptic meningitis) พบเป็นภาวะแทรกซ้อนของการติดเชื้อไวรัสเริมชนิดที่ 2 ครั้งแรกที่อวัยวะเพศ อาการมักทุเลาภายในไม่กี่วัน และหายไปได้เองโดยไม่มีความพิการหลงเหลือ
หลอดอาหารอักเสบ พบในผู้ป่วยเอดส์และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บในขณะกลืน ทำให้กลืนลำบาก น้ำหนักตัวลด
ตับอักเสบ ซึ่งมักจะไม่รุนแรงในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันแข็งแรง แต่ถ้าพบในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำหรือในหญิงตั้งครรภ์ ก็อาจกลายเป็นตับอักเสบชนิดร้ายแรง (Fulminant hepatitis) ได้
การวินิจฉัยโรคเริม
แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคเริมได้จากประวัติอาการ การตรวจร่างกาย และจากลักษณะตุ่มน้ำ แต่ในบางรายซึ่งมีอาการไม่ชัดเจน แพทย์อาจตรวจหาเชื้อด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การขูดแผลนำเนื้อเยื่อไปย้อมสี การตรวจหาสารก่อภูมิต้านทาน (แอนติเจน) หรือดีเอ็นเอของเชื้อเริมจากแผลหรือสิ่งคัดหลั่ง การทดสอบทางน้ำเหลืองเพื่อหาระดับสารภูมิต้านทาน (แอนติบอดี)
มักตรวจพบตุ่มน้ำใสขนาด 2-3 มิลลิเมตร หลายตุ่มอยู่กันเป็นกลุ่ม ๆ หรือพบตุ่มตกสะเก็ดหรือแผลเล็ก ๆ คล้ายรอยถลอกในบริเวณผิวหนังส่วนใดส่วนหนึ่ง ริมฝีปาก หรือที่อวัยวะเพศ และอาจตรวจพบต่อมน้ำเหลืองในบริเวณใกล้เคียงโตและเจ็บ ผู้ป่วยบางรายอาจมีไข้ร่วมด้วย อาจตรวจพบแผลขึ้นพร้อมกันหลายแห่งในช่องปาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็กที่เป็นเริมในช่องปาก
วิธีรักษาโรคเริม
loading...
ถ้าผู้ป่วยมีอาการแสดงชัดเจน แพทย์จะให้การรักษาไปตามอาการ (เช่น ให้ยาแก้ปวดลดไข้ ยาบรรเทาอาการคัน ให้สารน้ำในรายที่มีภาวะขาดน้ำ) ร่วมไปกับการให้ยาต้านไวรัส ซึ่งจะช่วยลดความรุนแรงของโรค ช่วยให้หายเร็วขึ้น และลดโอกาสการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น แต่มักจะไม่ได้มีผลในการป้องกันการกำเริบซ้ำ เพราะยาต้านไวรัสไม่สามารถกำจัดเชื้อไวรัสที่แฝงตัวอยู่ในปมประสาทได้ ส่วนในรายที่มีอาการแสดงไม่ชัดเจน ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจวินิจฉัย ซึ่งวิธีการรักษาโรคนี้ที่สำคัญคือการให้ยาต้านไวรัส ซึ่งมีแนวทางดังนี้
โรคเริมส่วนใหญ่มักมีอาการไม่รุนแรง ผู้ที่ไม่ได้รับการรักษามักหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ โดยเฉพาะเริมที่กลับมาเป็นซ้ำ ซึ่งจะมีอาการน้อยกว่า (ตุ่มน้ำมีขนาดเล็กและมีจำนวนน้อยกว่า) หายเร็วกว่า และมักไม่มีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย
ในรายที่มีเริมขึ้นที่บริเวณตาควรรีบไปพบจักษุแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมง ถ้าพบว่ามีกระจกตาอักเสบจากเชื้อเริม (Herpetic keratitis) แพทย์จะให้ยาต้านไวรัสชนิดหยอดตาหรือป้ายตา เช่น ยาหยอดตาไตรฟลูริดีน (Trifluridine) ชนิด 1% ใช้หยอดตาวันละ 9 ครั้ง (ประมาณ 2 ชั่วโมงครั้ง), ยาขี้ผึ้งป้ายตาไวดาราบีน (Vidarabine) ชนิด 3% ใช้ป้ายวันละ 5 ครั้ง นาน 21 วัน ส่วนในรายที่เป็นรุนแรงอาจต้องให้รับประทานยาอะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) ครั้งละ 200-400 มิลลิกรัม วันละ 5 ครั้ง นาน 10 วัน
สำหรับผู้ที่ติดเชื้อเริมครั้งแรกที่บริเวณทวารหนัก แพทย์จะให้รับประทานยาอะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) ครั้งละ 400 มิลลิกรัม วันละ 5 ครั้ง นาน 10-14 วัน
สำหรับผู้ที่เป็นตะมอยเริม (Herpetic whitlow) แพทย์จะให้รับประทานยาอะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) ครั้งละ 400 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง นาน 7 วัน
สำหรับการติดเชื้อเริมครั้งแรกในช่องปากหรืออวัยวะเพศ แพทย์จะให้รับประทานยาอะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) ครั้งละ 200 มิลลิกรัม วันละ 5 ครั้ง ทุก ๆ 4 ชั่วโมง (เว้นช่วงนอนหลับตอนดึก) หรือให้รับประทานในขนาด 400 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง ทุก ๆ 8 ชั่วโมง นาน 10-14 วัน ส่วนในเด็กที่เป็นเริมในช่องปากแพทย์จะให้รับประทานยาอะไซโคลเวียร์ในขนาด 15 มิลลิกรัม/กิโลกรัม วันละ 5 ครั้ง นาน 7 วัน
สำหรับการติดเชื้อซ้ำในบริเวณช่องปาก (ริมฝีปากด้านนอก เหงือก หรือเพดานปาก) หรืออวัยวะเพศ แพทย์จะให้รับประทานยาอะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) ครั้งละ 400 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง ทุก ๆ 8 ชั่วโมง นาน 5 วัน
สำหรับผู้ที่เป็นเริมที่อวัยวะเพศซ้ำอยู่บ่อย ๆ คือมากกว่าปีละ 6 ครั้ง แพทย์จะให้รับประทานยาอะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) ครั้งละ 400 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ทุกวัน ติดต่อกันอย่างน้อย 1 ปี ซึ่งวิธีนี้จะช่วยลดอัตราการเป็นซ้ำและลดการแพร่เชื้อของผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการได้
ในผู้ป่วยโรคเริมที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ แพทย์จะให้ยาต้านไวรัสชนิดอื่น เช่น แฟมซิโคลเวียร์ (Famciclovir) รับประทานครั้งละ 250 มิลลิกรัม หรือให้วาลาไซโคลเวียร์ (Valaciclovir) รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง นาน 7-10 วัน
ในรายที่สงสัยว่ามีภาวะแทรกซ้อน (เช่น สมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ตับอักเสบ), มีการติดเชื้อในทารกแรกเกิด หรือเป็นโรคเริมชนิดแพร่กระจาย แพทย์จะรับตัวผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล และให้ยาอะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) ฉีดเข้าหลอดเลือดดำนาน 10-14 วัน
หญิงตั้งครรภ์ที่มีการติดเชื้อเริมครั้งแรกที่ช่องคลอดหรือปากมดลูกในระยะใกล้คลอด แพทย์จะแนะนำให้ผ่าคลอดทางหน้าท้อง เพื่อป้องกันไม่ให้ทารกเกิดการติดเชื้อในขณะคลอดผ่านทางช่องคลอด
สำหรับยาทา ในปัจจุบันยังไม่มียาชนิดใดที่ได้ผลดีกับโรคนี้ ยาทาอาจจะได้ผลดีในแง่ลดอาการปวด ทำให้ผื่นแห้งเร็ว ซึ่งยาที่นิยมใช้ก็คือ ครีมอะไซโคลเวียร์ ที่ใช้ได้ผลเฉพาะกับเริมที่เป็นครั้งแรก และไม่ช่วยลดจำนวนของเชื้อหรือลดระยะเวลาที่เป็นโรค ส่วนยาทาอื่น ๆ นั้นต้องเลือกให้ดีเพราะอาจมีแอลกอฮอล์หรือสารที่ระคายเคืองอย่างอื่นซึ่งทำให้แผลหายช้า ส่วนยาทาที่ผสมสเตียรอยด์ก็ไม่ควรใช้ เพราะแผลจะหายได้ช้า
ครีมพญายอ ซึ่งทำจากสมุนไพรเสลดพังพอนตัวเมีย (พญายอ) ได้ผ่านการศึกษาวิจัยมาแล้วและพบว่า สามารถช่วยรักษาเริมที่อวัยวะเพศที่เป็นครั้งแรกได้ผลดีพอ ๆ กับครีมอะไซโคลเวียร์ (ประสิทธิภาพยังสู้อะไซโคลเวียร์ชนิดรับประทานไม่ได้) แต่ไม่สามารถป้องกันการกำเริบซ้ำได้ ส่วนเริมที่กำเริบซ้ำจะใช้ยาทาเหล่านี้ไม่ได้ผล ต้องใช้ยารับประทานเท่านั้น
คำแนะนำทั่วไปและการดูแลตนเองเมื่อเกิดโรคเริม มีดังนี้
พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้เริมเกิดเป็นซ้ำ เช่น อารมณ์เครียดหรือความวิตกกังวล, ถูกแดดจัด, ร่างกายอิดโรยหรือทรุดโทรม, ภูมิคุ้มกันต่ำ, การเจ็บป่วยจากโรคอื่น, การได้รับยากดภูมิคุ้มกัน (เช่น สเตียรอยด์), การได้รับบาดเจ็บหรือได้รับการกระทบกระเทือนเฉพาะที่ (เช่น การถูไถ เกิดรอยถลอกขีดข่วน การเสียดสีของผิวกับเสื้อผ้า การทำฟัน ถอนฟัน การผ่าตัดที่กระทบกระเทือนต่อเส้นประสาท) เป็นต้น (บางข้อมูลระบุว่า การสัมผัสลม ความเย็น การสวมเสื้อผ้าคับ ๆ เหงื่อ อาหารบางอย่าง ได้แก่ ถั่ว กาแฟ แอลกอฮอล์ ช็อกโกแลต ก็เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดเป็นซ้ำด้วยเช่นกัน)
ควรดื่มน้ำสะอาดให้มาก ๆ อย่างน้อยวันละ 8 แก้วต่อวันเมื่อไม่มีโรคที่ต้องจำกัดการดื่มน้ำ เช่น โรคหัวใจล้มเหลว
แยกของใช้ส่วนตัว รวมทั้งแก้วน้ำและช้อนจานชาม ไม่ใช้ร่วมกับผู้อื่น
รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อป้องกันการติดเชื้อในเนื้อเยื่อหรืออวัยวะอื่น ๆ และป้องกันการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น เช่น การรักษาความสะอาดของร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณอวัยวะเพศในระหว่างที่มีผื่นตุ่ม, การล้างมือให้สะอาดทันทีหลังจับต้องแผล, ทำความสะอาดของใช้ที่ต้องใช้ร่วมกัน เป็นต้น
การรับประทานยาต้านไวรัสเร็วภายใน 48 ชั่วโมงหลังมีอาการนำ จะสามารถช่วยลดระยะเวลาการเกิดโรค ลดโอกาสการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น และช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ แต่เนื่องจากยามีผลข้างเคียงต่อไต ต้องมีการปรับขนาดยาในผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตบกพร่อง ผู้ป่วยจึงควรรีบมาพบแพทย์เมื่อเริ่มมีอาการ เพื่อพิจารณาเรื่องยาต้านไวรัส
หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้อื่น เช่น การจูบ การใช้ผ้าเช็ดตัวร่วมกัน โดยเฉพาะกับเด็กเล็กหรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ
ตัดเล็บให้สั้น ไม่แกะเกา และอาบน้ำฟอกสบู่ให้สะอาด เพื่อป้องกันมิให้ตุ่มน้ำติดเชื้อจากการเกา ตุ่มกลายเป็นหนอง และแผลเป็น
ทำความสะอาดผื่นด้วยสบู่ฆ่าเชื้อ ใช้ผ้าก๊อซชุบน้ำเกลือหรือน้ำต้มสุกประคบทำความสะอาดแผล
ใช้น้ำเกลือกลั้วปากถ้ามีแผลในปาก
เมื่อมีไข้สูง ควรใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวบ่อย ๆ และรับประทานยาพาราเซตามอลเพื่อบรรเทาอาการไข้
เมื่อมีอาการปวดหรือคัน ให้รับประทานยาแก้ปวด (พาราเซตามอล) และยาบรรเทาอาการคัน โดยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนซื้อยามาใช้เองเสมอ เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา
ผู้เป็นเริมที่อวัยวะเพศ ควรสวมใส่เสื้อผ้า กางเกงชั้นใน ที่หลวมสบาย หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าแผลเริมจะหายสนิท และควรป้องกันการแพร่เชื้อโรคไปสู่ผู้อื่นด้วยการใส่ถุงยางอนามัย
ถ้าเป็นการติดเชื้อครั้งแรกควรตรวจกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่น ๆ ที่อาจพบร่วมด้วย เช่น เอดส์ ซิฟิลิส
ผู้ป่วยที่เป็นโรคเริมกำเริบถี่มาก หรือเป็นรุนแรง หรือเป็นแผลเริมเรื้อรังเกิน 1 เดือน ควรตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวี (HIV) ด้วย เพราะอาจพบว่าเป็นเอดส์ก็ได้
ผู้ป่วยที่เป็นโรคเริมที่ปากมดลูก ควรตรวจคัดกรองหามะเร็งปากมดลูกระยะแรก (Pap smear) ปีละ 1 ครั้ง
ถ้าพบว่าเป็นเริมที่อวัยวะเพศในขณะตั้งครรภ์หรือใกล้คลอดควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อจะได้รับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
การรักษาด้วยยาต้านไวรัสสามารถช่วยให้โรคเริมหายได้เร็วขึ้นและช่วยลดการแพร่เชื้อ แต่ไม่มีผลในการป้องกันไม่ให้ติดเชื้อซ้ำได้ โรคนี้จึงมักจะเป็น ๆ หาย ๆ อย่างเรื้อรัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นเริมที่อวัยวะเพศ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงดีโรคนี้จะไม่มีอันตรายร้ายแรงแต่อย่างใด แต่ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ทารกแรกเกิด เด็กที่เป็นโรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ ผู้ที่มีบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก อาจเกิดภาวะติดเชื้อเริมแบบร้ายแรงได้ ดังนั้น ผู้ที่เป็นโรคเริมจึงควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับบุคคลเหล่านี้
ควรรีบไปพบแพทย์เมื่อมีตุ่มพองลุกลามมาก, มีไข้สูงหรือไข้ไม่ลดลงภายใน 1-3 วัน (ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ), เริ่มมีอาการทางดวงตา (เช่น เคืองตา เจ็บตา น้ำตาไหล), มีตุ่มน้ำเป็นหนอง (ต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ซึ่งควรให้ยาโดยแพทย์) หรือเมื่อมีความกังวลในอาการที่เป็นอยู่ และควรรีบไปพบแพทย์ฉุกเฉินเมื่อมีไข้สูงร่วมกับปวดศีรษะมาก แขนขาอ่อนแรง ชัก และ/หรือมีอาการโคม่า (เป็นอาการของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบหรือโรคสมองอักเสบ)
วิธีป้องกันโรคเริม
เนื่องจากผู้ติดเชื้อเริม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดเชื้อซ้ำ ผู้ป่วยมักไม่มีอาการแสดง แต่สามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้อยู่ โดยเชื้ออาจมีอยู่ในน้ำตา น้ำลาย คอหอย อวัยวะเพศ ทวารหนัก ท่อปัสสาวะ การป้องกันการติดเชื้อเริมจึงเป็นเรื่องค่อนข้างยาก เพราะไม่มีทางแยกออกได้ว่าใครบ้างที่เป็นผู้ติดเชื้อ อย่างไรก็ตาม เพื่อลดโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ควรปฏิบัติดังนี้
หลีกเลี่ยงการเที่ยวหญิงบริการ และมีเพศสัมพันธ์กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่คู่ครอง แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรสวมถุงยางอนามัยด้วยทุกครั้ง รวมไปถึงการหลีกเลี่ยงการสัมผัสที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น การมีเพศสัมพันธ์ทางปาก (Oral-genital contact)
หลีกเลี่ยงการสัมผัสแผล น้ำลาย หรือสิ่งคัดหลั่งของผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีตุ่มตามผิวหนังหรือเยื่อเมือก หรือผู้ป่วยที่มีแผลเปื่อยในช่องปาก (โดยปกติแล้วระยะแพร่เชื้อติดต่อให้ผู้อื่นได้ คือ ตั้งแต่เริ่มมีอาการนำจนกระทั่งแผลหายตกสะเก็ด)
หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของเครื่องใช้ร่วมกับผู้อื่น เช่น จานชาม แก้วน้ำ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า มีดโกน เป็นต้น
ควรรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทั้งห้าหมู่ในทุก ๆ วัน นอนหลับพักผ่อนให้เพียง และทำให้จิตใจให้ร่าเริงแจ่มใส/หลีกเลี่ยงความเครียด
การรับประทานยาต้านไวรัสทุกวันสามารถช่วยลดการแพร่เชื้อได้ แต่เนื่องจากยามีผลข้างเคียง จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา
ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคเริม แต่กำลังมีการศึกษาคิดค้นกันอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นโรคที่พบได้บ่อย
References
หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2. “เริม (Herpes simplex)”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 969-974.
ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล. “โรคเริม (Herpes simplex)”. (อ.พญ.จรัสศรี ฬียาพรรณ, รศ.พญ. วรัญญา บุญชัย, ผศ.ดร.นพ.สุขุม เจียมตน). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th. [21 มิ.ย. 2016].
หาหมอดอทคอม. “เริม (Herpes simplex)”. (ศ.เกียรติคุณ พญ.พวงทอง ไกรพิบูลย์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [22 มิ.ย. 2016].
Siamhealth. “โรคเริม herpes simplex”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.siamhealth.net. [22 มิ.ย. 2016].
มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 320 คอลัมน์ : โรคน่ารู้. “โรคเริม”. (ศ.นพ.สมยศ จารุวิจิตรรัตนา). [ออนไลน์]. เข้าถึง
loading...
ที่มา:http://an-anshare.com/wordpress/2016/12/20/%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%A0%E0%B8%B1%E0%B8%A2-%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%9B%E0%B9%88-2/
loading...
EmoticonEmoticon