loading...
เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนฤดูทำนาชาวบ้านใน อ.นาหว้า โดยเฉพาะที่ บ.ตาล หมู่ 8 และหมู่ 15 ต.นาหว้า จ.นครพนม ร่วม 30 หลังคาเรือน จะช่วยกันประกอบอาชีพตุ๊กแกอบแห้งซึ่งหลายคนที่พบเจอตุ๊กแกห้อยโหนบนขื่อและเพดานยังต้องขยาด แต่ชาวบ้านแห่งนี้รับซื้อและผลิตตุ๊กแกอบแห้ง โกยเงินเป็นลำเป็นสันมานานกว่า 20 ปี แล้ว ก่อนส่งขายให้โรงงานนายทุนรับซื้อใกล้หมู่บ้าน นำส่งต่างประเทศทำเป็นยาโด๊ปชูกำลัง ขณะที่ชาวบ้านบางรายยังนำตุ๊กแกไปทำเป็นเมนูเด็ดหลายชนิดอีกด้วย
นางพรหมสมัย วงษาเนาว์ วัย 43 ปี หนึ่งในชาวบ้านผู้ผลิตตุ๊กแก กล่าวว่า จะมีนายทุนชาวไทยละแวกบ้านไปตระเวนรับซื้อตุ๊กแกสดๆ มาจากจังหวัดต่างๆ อาทิ มุกดาหาร อุบลราชธานี นครราชสีมา ร้อยเอ็ด และจังหวัดในภาคเหนือ ที่มีญาติพี่น้องอาศัยอยู่ตามจุดต่างๆยกเว้นภาคกลางและภาคใต้ ตกตัวละ 5-10 บาทแล้วแต่ขนาด อัดใส่ถังน้ำแข็งขนาดใหญ่ครั้งละ 500-1,000 ตัว ป้องกันตัวตายเน่าเสีย ส่วนตุ๊กแกที่เป็นๆ จะจับใส่กระสอบ อาชีพนี้จะทำกันเป็นครอบครัวและหมู่ญาติรวม 6-7 คน เพราะการผลิตมีมากถึง 15 ขั้นตอน ส่วนอุปกรณ์การทำ เช่น กิ๊บเหล็กหนีบ ไม้ไผ่ แม็กเย็บกระดาษ กรรไกร เชือกฟาง จะมีนายทุนเตรียมจัดหามาให้
คุณยายกฤษณา เสนารักษ์ อายุ 68 ปี เล่าถึงขั้นตอนการผลิตว่า เริ่มจากใช้มีดคว้านใส้และขี้ออกล้างน้ำให้สะอาด ใช้มีดกรีดผ่าท้องยาวจากต้นคอจนถึงสันหาง นำไม้ไผ่คล้ายไม้เสียบลูกชิ้น ขึงแยกลำตัวคู่ขาหน้าหลัง ก่อนนำไม้ไผ่แบนๆหน้ากว้าง 2 นิ้ว 2 แผ่น ขึงแผ่ลำตัวออก จึงใช้กีบเหล็กหนีบให้ตึง ก่อนนำแม็กเย็บติดกับไม้ไผ่แบนๆ ส่วนหางก็นำเชือกฟางมัดขึงดึงตรง ก่อนรวบรวมนำเข้าเตาอบถ่าน 3 เตาที่ประกอบขึ้นเอง อบแห้งนาน 1 คืนนาน 12 ชั่วโมง หากตากแดดจะเน่าและอาจมีเชื้อรา จึงนำออกมาลอกแกะเชือกฟางมัดส่วนหางออก ก่อนทำกาวลาเท็กซ์มาแปะทาติดยึดกับไม้ไผ่แบนอีกรอบ ก่อนรวบรวมนำใส่สุมไก่ ส่งขายให้บริษัทจากไต้หวันที่มาตั้งโรงานรับซื้อห่างจากหมู่บ้านแค่ 500 เมตร
loading...
“การผลิตจะแบ่งหน้าที่รับผิดชอบคนละ 2-3 แผนก เพราะมีหลายขั้นตอน ทำคนเดียวไม่ได้ แต่ละวันจะตื่นตั้งแต่ตี 3 ร่วมกับญาติและลูกหลาน ผลิตครั้งละ 500 ตัว ได้ค่าแรงตกตัวละ 3 บาท ใน 1 สัปดาห์จะทำ 4-5 ครั้ง ลูกหลานแบ่งให้ใช้ 500-700 บาทต่อ 1 สัปดาห์ มีรายได้ต่อคน 3,000-5,000 บาท แล้วแต่ความขยันทำมากน้อย ตุ๊กแกยังนำมาประกอบอาหาร เช่น ส้มตุ๊กแก คล้ายแหนมสี่โครงหมูทอด ผัดกระเพรา ผัดเผ็ด ทอดหมักใส่ซอส เนื้อคล้ายเนื้อไก่มีสีขาวนวล หากนำไปทำต้มยำใส่ไก่ดำใส่เครื่องเทศเชื่อว่าคล้ายยาอายุวัฒนะ ขณะที่ไข่ตุ๊กแกสีขาวๆ ยังนำมาทำเป็นหอหมกได้ด้วย ส่วนขี้ที่ควักออกนำไปเลี้ยงปลา หรือนำไปใส่เป็นปุ๋ยในนาข้าว มีเพื่อนบ้านมาเข้าคิวขอแทบแย่งกัน” ยายกฤษณา กล่าว
ด้านนายบุญเพ็ง วงษาเนาว์ ผู้ใหญ่บ้าน บ.ตาล หมู่ 8 กล่าวว่า ก่อนนี้มีชาวบ้านผลิตตุ๊กแกในหมู่ 15 ผลิตกันมากในหมู่ 8 กว่า 70 ครัวเรือน หลังตุ๊กแกราคาตกนายทุนจึงเริ่มหดหาย จึงเหลือผู้ผลิตร่วม 30 ราย เป็นอาชีพก่อนฤดูทำนาของชาวบ้านที่จะเริ่มทำช่วงเดือนมี.ค.-มิ.ย.ของทุกปี โดยจะมีบริษัทจากไต้หวันและฮ่องกงมาตั้งโกดังรับซื้อในตัวหมู่บ้าน ตามขนาด 20-30 บาทต่อตัว เชื่อว่านำไปเป็นส่วนผสมยาโด๊ปชูกำลัง ที่ผ่านมาสามารถทำเงินให้ชาวบ้านแต่ละปีกว่า 10 ล้านบาท ส่วนเดือนต.ค.ก็จะพากันผลิตไส้เดือนตากแห้ง สลับหมุนเวียนเป็นฤดูกาลไป ที่ผ่านมามีการกล่าวขวัญว่าเป็นอาชีพปริศนา ซึ่งอยู่ในคำขวัญของอำเภอ แต่เป็นอาชีพเลี้ยงครอบครัวได้อย่างสบายมากว่า 20 ปี แล้ว
loading...
ที่มา:http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=1464754545